วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติหลวงพ่อปาน

ประวัติหลวงพ่อปาน หากจะอ่านให้สนุกและละเอียด คือหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ที่พิมพ์ขึ้นจากการเล่าของหลวงพ่อฤาษีลิงดำแห่งวัดจันทาราม จ.อุทัยธานี ซึ่งท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน โสนันโท แห่งวัดบางนมโค หนังสือนี้ไม่มีขาย เล่มโต อยากได้คงต้องหาจากแผงหนังสือเก่า ผมก็ได้มาด้วยวิธีนี้ ท่านเล่าไว้สนุก เพราะเล่าเกี่ยวกับตัวหลวงพ่อฤาษีลิงดำเอง กับเล่าถึงเรื่องของหลวงพ่อปาน เกี่ยวข้องกันไป อ่านแล้วสนุกและได้ความรู้ทางธรรมะไปด้วย
ส่วนประวัติย่อของหลวงพ่อปาน โสนันโท มีดังนี้
หลวงพ่อปานถือกำเนิดที่ย่านวัดบางนมโค เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๑๘ เป็นบุตรชายคนเล็ก ครอบครัวมีอาชีพทำนา สาเหตุที่ท่านได้รับการตั้งชื่อว่า "ปาน" เนื่องจากท่านมีปานแดงที่นิ้วก้อยมือซ้าย ตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้ว นับว่าแปลก ไม่มีใครมีแบบนี้
หลวงพ่อปานอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๘ โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา "โสนันโท"
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เข้ามาอยู่ที่วัดบางปลาหมอ โดยมีหลวงพ่อสุ่นเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานวิปัสสนา พุทธาคมต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนผู้คนที่ถูกคุณไสย หลวงพ่อสุ่นถ่ายทอดวิชาให้จนหมดสิ้น จากนั้นไปเรียนพระปริยัติธรรมและภาษาบาลีกับอาจารย์จีน วัดเจ้าเจ็ด ๒ ปี และไปเรียนต่อที่วัดสระเกศ ที่กรุงเทพ ฯ อีกจนจบอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ใช้เวลาอยู่กรุงเทพ ฯ ๕ ปี ขณะที่อยู่กรุงเทพ ฯ ไปเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณเพิ่มเติมอีก โดยเรียนที่วัดสังเวช บางลำพู
ต่อมาไปเรียนด้านกรรมฐานเพิ่มเติมจากหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า
ไปศึกษาเพิ่มเติมกับหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี หลวงพ่อโหน่งนี้เล่ากันว่า ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ผู้ที่จะทราบว่าท่านสำเร็จจริงหรือไม่ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ด้วยกัน ปัจจุบันรูปเหมือนของหลวงพ่อโหน่ง อยู่ในมณฑปวัดอัมพวัน วัดนี้ไปตามถนนสาย ๓๔๐ ที่ไปสุพรรณบุรี แล้วแยกไปทางวัดไผ่โรงวัว อยู่เลยวัดไผ่โรงวัวของหลวงพ่อขอมไป ถนนเส้นนี้เลยต่อไปยังสุพรรณบุรี เข้าทางถนนมาลัยแมนได้ เลยเอามาบอกไว้ด้วย
วิชาการสร้างพระเครื่อง เรียนจากชีปะขาว ที่สร้างพระเครื่อง ๖ พิมพ์ดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งชีปะขาวได้มาพบหลวงพ่อในขณะที่เจริญฌานอยู่ในป่าช้าวัดบางนมโค และบอกให้วันละพิมพ์ แต่วิชาการปลุกเสกนั้นหลวงพ่อได้รับการถ่ายทอดวิชาจากอาจารย์แจงฆราวาสที่สวรรคโลก เป็นตำราของพระร่วงเจ้า การสร้างพระครั้งแรกของหลวงพ่อปานทำ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ เพื่อหาทุนมาสร้างเจดีย์ใหม่แทนเจดีย์องค์เดิมซึ่งคือ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ เจดีย์เดิมชำรุดทรุดโทรมพังลงมาแล้ว มรดกอันมีค่าของหลวงพ่อปานที่ท่านให้ไว้ได้แก่
๑. พระหลวงพ่อปาน คือพระผง ๖ พิมพ์
๒. ผ้ายันต์, ยันต์เกราะเพชร
๓. พระคาถาพระปัจเจกะโพธิ์